วอเตอร์สต๊อป(Waterstop) คือ วัสดุที่ใช้กันซึมระหว่างรอยต่อคอนกรีต
ความจำเป็นของวอเตอร์สต๊อป
ในงานก่อสร้างใดๆก็ตามที่มีลักษณะของการกันน้ำไม่ใช้รั่วไหลออก เช่น สระว่ายน้ำ, บ่อเลี้ยงปลา, บ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น และ การกันน้ำไม่ให้ไหลเข้ามา เช่น ชั้นใต้ดิน เป็นต้น จำเป็นต้องมีการใส่ วอเตอร์สต๊อป ไว้ระหว่างคอนกรีตแต่ละส่วน (Section) ที่มีการหยุดเท เนื่องจาก คอนกรีตทั้ง 2 ส่วนที่แข็งตัวไม่พร้อมกันนั้นจะไม่ประสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกันและมีรอยแยกระหว่างรอยต่อ รอยแยกนี้เองเป็นสาเหตุให้น้ำรั่ว หรือ ไหลเข้ามา จึงจำเป็นต้องใส่ วอเตอร์สต๊อปไว้ระหว่างรอยต่อนี้ ซึ่งรอยต่อดังกล่าว อจจะเป็นรอยต่อระหว่างพื้น กับ พื้น หรือ พื้นกับผนังก็ได้
ชนิดของวอเตอร์สต๊อป
วอเตอร์สต๊อปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. วอเตอร์สต๊อปชนิดแผ่น
ใช้งานกับรอยต่อที่เทใหม่ทั้ง 2 ส่วน(Section) เท่านั้น ไม่สามารถใช้งานกับคอนกรีตที่แข็งตัวแล้วกับคอนกรีตที่เทใหม่ได้ แบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 2 ประเภท ได้แก่
- ชนิดใช้กับรอยต่อปกติ

- ชนิดรอยต่อระหว่างพื้นกับพื้น

นอกจากสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้แล้วยังสามารถแบ่งตามวัสดุที่ใช้ในการผลิตได้เป็น 3 ประเภทได้แก่
- ชนิดพีวีซี (PVC Waterstop)หรือโพลิไวนิลคลอไรด์ มาตรฐานสากลที่กำหนดคุณลักษณะของวอเตอร์สต๊อปประเภทนี้ได้แก่ มอก.1239-2537 แผ่นพีวีซีกันซึมระหว่างรอยต่อคอนกรีต, CRD-C572-74 Corps of Engineers Specifications for Polyvinylchoride Waterstops เป็นต้น
- ชนิดยางธรรมชาติ หรือ ยางพารา(Natural Rubber Waterstop) เป็นวอเตอร์สต๊อปที่มีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าพีวีซีวอเตอร์สต๊อปเนื่องด้วยเป็นวัสดุจากธรรมชาติ มีการย่อยสลายได้ง่าย
- ชนิดยางสังเคราะห์(Synthetic Rubber Waterstop) ไม่นิยมใช้ในประเทศไทยเนื่องจากมีราคาแพง
2. วอเตอร์สต๊อปชนิดบวมน้ำ (Water Swelling Waterstop)
เป็นวอเตอร์สต๊อปที่มีส่วนผสมของเบนโทไนท์ (Bentonite) ซึ่งมีคุณสมบัติในการพองตัวเมื่อสัมผัสกับน้ำ ใช้งานระหว่างรอยต่อระหว่างคอนกรีตเก่าที่แข็งตัวแล้วกับคอนกรีตที่เทใหม่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยางบวมน้ำ

การใช้งาน
การใช้งานวอเตอร์สต๊อปชนิดแผ่น
ชนิดใช้กับรอยต่อปกติ
วอเตอร์สต๊อปจะถูกวางตำแหน่งหลังจากติดตั้งเหล็กโครงสร้างเสร็จ วอเตอร์สต๊อปจะถูกอมอยู่ในระหว่างส่วนของคอนกรีตทั้งสองอย่างละครึ่ง และอยู่ในตำแหน่งตรงกลางของคอนกรีต โดยทั่วไป ความกว้างของวอเตอร์สต๊อป (W) จะเท่ากับความหนาของพื้นคอนกรีตที่เท ในกรณีรอยต่อระหว่างพื้นกับผนัง

การติดตั้งวอเตอร์สต๊อปชนิดวางพื้น
ในบางกรณีตำแหน่งของวอเตอร์สต๊อปแบบแผ่นที่ใช้งานอาจจะถูกขัดขวางโดยแบบ เช่น รอยต่อระหว่างพื้นกับพื้น ที่วอเตอร์สต๊อปแบบปกติไม่สามารถทะลุไม้แบบออกมาได้ กรณีนี้ต้องใช้วอเตอร์สต๊อปชนิดวางพื้น ซึ่งจะมีด้านหนึ่งที่ราบเรียบสำหรับวางกับพื้นหรือลีน(Lean Concrete) ดังรูป

การใช้งานวอเตอร์สต๊อปชนิดบวมน้ำ (Water Swelling Waterstop)
การติดตั้งยางบวมน้ำเข้ากับคอนกรีตส่วนที่แข็งตัวแล้วก่อนเทคอนกรีตใหม่
วอเตอร์สต๊อปชนิดบวมน้ำใช้ต่อระหว่างรอยต่อคอนกรีตเก่าที่แข็งตัวแล้ว กับคอนกรีตที่เทใหม่ การใช้งานจะทำโดยใช้การติด(อาจให้กาว หรือ ตะปูช่วย)ไว้ที่คอนกรีตด้านที่แข็งตัวแล้วและเทคอนกรีตใหม่ลงไปทับ
